ความรู้เบื้องต้นเรื่องระบบชื่อโดเมน
ระบบชื่อโดเมน (Domain Name System) หรือ ดีเอ็นเอส (DNS) เป็นระบบการตั้งชื่อให้กับ "ทรัพยากรเครือข่าย” แต่ที่พบโดยทั่วไปคือการตั้งชื่อโฮสต์เพื่อใช้แทนไอพีแอดเดรส ดีเอ็นเอสเป็นระบบชื่อที่มีฐานข้อมูลแบบกระจาย โดยไม่มีหน่วยงานหรือสถาบันใดควบคุมหรือมีฐานข้อมูลเดี่ยวครอบคลุมทั้งอินเทอร์เน็ต แต่ละเครือข่ายในอินเทอร์เน็ตจะมีดีเอ็นเอสเซอร์ฟเวอร์เก็บรักษาฐานข้อมูลและบริหารข้อมูลอย่างอิสระ เพื่อให้ไคลเอ็นต์ขอบริการสอบถามข้อมูลตามแบบโปรโตคอลที่กำหนด ดีเอ็นเอสจึงเป็นทั้งระบบการตั้งชื่อและโปรโตคอลรวมอยู่ด้วยกัน
การติดต่อกับผู้ใช้งานประจำเครื่องใดๆ เช่นการส่งอิเล็กทรอนิกส์เมลอาจใช้ไอพีแอดเดรสระบุถึงคอมพิวเตอร์ปลายทางได้เช่น somchai@176.16.0.1 หรือใช้เบราเซอร์เปิดอ่านเว็บเพจโดยใช้ http://192.0.34.65 แต่การใช้ไอพีแอดเดรสดังตัวอย่างที่กล่าวมานั้นไม่อำนวยสะดวกต่อการจดจำ ในอินเทอร์เน็ตจึงใช้วิธีตั้งชื่อให้กับเครื่องเพื่อให้ผู้ใช้จดจำได้ง่ายกว่าตัวอย่างเช่นอีเมลแอดเดรสข้างต้นอาจเขียนแทนด้วย somchai@ku.ac.th หรือการเปิดอ่านเว็บเพจโดยใช้ http://www.isoc.org
เมื่อใช้ชื่อแทนไอพีแอดเดรสสำหรับเรียกใช้บริการหนึ่งๆ โปรแกรมประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับบริการนั้นจะใช้กลไกของระบบเพื่อแปลงชื่อไปเป็นไอพีแอดเดรส และนำไอพีแอดเดรสนั้นติดต่อไปยังคอมพิวเตอร์ปลายทางต่อไป
การใช้งานในยุคต้น
ในยุคแรกเริ่มของการใช้ชื่อทดแทนแอดเดรส ระบบฐานข้อมูลซึ่งเก็บชื่อเครื่องที่สมนัยกับไอพีแอดเดรสเป็นฐานข้อมูลเดี่ยว ฐานข้อมูลนี้ดูแลโดยศูนย์สารสนเทศเครือข่ายสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute's Network Information Center หรือ SRI-NIC) เครือข่ายใดที่ต้องการใช้ฐานข้อมูลจะต้องใช้โปรโตคอลถ่ายโอนแฟ้ม หรือ เอฟทีพี (FTP : File Transfer Protocol) เพื่อนำรายชื่อและแอดเดรสไปใช้งาน ฐานข้อมูลกลางจะปรับปรุงใหม่อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้แต่ละเครือข่ายถ่ายโอนข้อมูลล่าสุดไปใช้ รูปแบบเช่นนี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่เป็นปัญหาในยุคต้นเนื่องจากจำนวนเครือข่ายและคอมพิวเตอร์จำกัดอยู่ในหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา แต่เมื่อจำนวนเครือข่ายและคอมพิวเตอร์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น กระบวนการถ่ายโอนเริ่มพบปัญหาอุปสรรคได้แก่
- การปรับปรุงฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ไม่ตอบสนองกับอัตราการเพิ่มของคอมพิวเตอร์ได้อย่างทันท่วงที
- ฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่มากขึ้น การถ่ายโอนใช้เวลาและใช้ช่องสัญญาณมากทำให้กระทบต่อการใช้งานอื่น
- ฐานข้อมูลเดิมเก็บชื่อเป็นระดับเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาการจัดการเมื่อมีผู้ขอตั้งชื่อเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดในการปรับปรุงระบบให้บริการชื่อเครื่องใหม่ ระบบการแปลงชื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอัตโนมัติที่ใช้วิธีการกระจายฐานข้อมูล มีโปรโตคอลสำหรับเชื่อมต่อฐานข้อมูลนั้นและปรับปรุงข้อมูลโดยอัตโนมัติ รูปแบบการตั้งชื่อมีโครงสร้างแบบลำดับชั้นป้องกันการตั้งชื่อซ้ำซ้อน ระบบดังกล่าวนี้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของโปรโตคอล ดีเอ็นเอส (DNS : Domain Name System) หรือเรียกว่า ระบบชื่อโดเมน
ระบบชื่อโดเมนเป็นบริการที่มีความสำคัญอย่างมากในอินเทอร์เน็ต หากระบบชื่อโดเมนไม่สามารถให้บริการได้อาจกล่าวได้ว่าบริการอื่นในอินเทอร์เน็ตจะหยุดชะงักลง ระบบชื่อโดเมนมีฐานข้อมูลแบบกระจายโดยไม่มีหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดควบคุมฐานข้อมูลเดี่ยวทั้งหมด แต่ละเครือข่ายจะมีเซิร์ฟเวอร์เก็บรักษาฐานข้อมูลและบริหารข้อมูลอย่างอิสระ แต่ละเซิร์ฟเวอร์จะสื่อสารกันด้วยโปรโตคอลดีเอ็นเอสและให้ไคลเอ็นต์ในอินเทอร์เน็ตขอบริการสอบถามข้อมูล ดีเอ็นเอสจึงเป็นทั้งระบบการตั้งชื่อและโปรโตคอลรวมอยู่ด้วยกัน
รูปแบบการเขียน
การเขียนชื่อคอมพิวเตอร์ประจำโดเมนใดๆจะเริ่มต้นจากชื่อเครื่องตามด้วยชื่อโดเมนย่อยที่คั่นด้วยจุดและปิดท้ายด้วยจุดซึ่งแสดงถึงจุดบนสุดหรือเรียกว่า ราก (root)
เครื่องหมายจุดเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ระบุว่าชื่อได้สิ้นสุดโดยไม่มีชื่อต่อท้ายอีก และเรียกชื่อชื่อนั้นว่าเป็นชื่อสัมบูรณ์ (absolute name) ทั้งนี้เพื่อป้องกันความสับสนกับชื่อที่เขียนแบบสัมพัทธ์ ตัวอย่างเช่นชื่อ www.moe.go.th. มีความหมายดังต่อไปนี้
- www ชื่อเครื่อง (host name)
- moe ชื่อโดเมนกระทรวงศึกษาธิการ
- go ชื่อโดเมนในหมวดหน่วยงานราชการ
- th ชื่อโดเมนสัญชาติไทย
- . สัญลักษณ์แทนราก
รูปแบบการเขียนชื่อคอมพิวเตอร์ที่ระบุทั้งชื่อเครื่องและชื่อโดเมนที่สังกัดเต็มรูปแบบโดยปิดท้ายด้วยเครื่องหมายจุดเป็นรูปแบบการเขียนที่สมบูรณ์ และเรียกชื่อที่เขียนในลักษณะนี้ว่า FQDN (Fully Qualified Domain Name)
ประโยชน์จากการใช้ชื่อตามโครงสร้างแบบนี้คือทำให้ชื่อในโดเมนหนึ่งจะมีได้เพียงชื่อเดียวโดยไม่ซ้ำซ้อนกันไม่ว่าอินเทอร์เน็ตจะมีขนาดใหญ่เพียงใดหรือมีจำนวนโดเมนย่อยเท่าใด เพราะเครื่องที่อยู่ต่างโดเมนถึงแม้จะมีชื่อเครื่องหรือชื่อโดเมนย่อยเหมือนกัน หากแต่การสังกัดอยู่ในชื่อโดเมนระดับบนที่ต่างกันย่อมมี FQDN ที่แตกต่างกันและถือว่ามีชื่อต่างกัน ตัวอย่างเช่น www.name.co.th ถือว่ามีชื่อโดเมนต่างจาก www.name.com ในอีกแง่มุมหนึ่งแล้วประโยชน์ของชื่อโดเมนแบบโครงสร้างคือช่วยให้สามารถตั้งชื่อเครื่องได้หลากหลายในหมวดชื่อโดเมนต่างๆ
ระบบชื่อโดเมนในอินเทอร์เน็ตมีการจัดแบ่งตามโครงสร้างลำดับชั้น (Hierarchical) และใช้ฐานข้อมูลแบบกระจาย (Distributed) ระบบฐานข้อมูลแบบกระจายช่วยให้บริการชื่อโดเมนใน องค์กรใดๆที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบชื่อโดเมนไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาสำเนาข้อมูลชื่อโดเมนที่มีอยู่ทั้งหมด หากแต่ระบบสามารถเชื่อมถึงกันทางเครือข่ายเพื่อสืบค้นและแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมทั้งใช้ฐานข้อมูลร่วมกันโดยอัตโนมัติ โครงสร้างตามลำดับชั้นของระบบชื่อโดเมนเปรียบเทียบได้กับการแบ่งองค์กรเช่นภายในบริษัทอาจแบ่งออกเป็นแผนกย่อย แต่ละแผนกอาจแบ่งย่อยเป็นฝ่าย หรืออาจเปรียบเทียบกับการแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ออกเป็นประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นต้น
อินเทอร์เน็ตดีเอ็นเอสมีโครงสร้างตามลำดับชั้นแบบโครงสร้างต้นไม้กลับหัวดังรูปที่ 1 โครงสร้างอยู่ภายใต้ต้นไม้รากเดี่ยวและแตกกิ่งก้านมาเป็นลำดับ ส่วนปลายสุดเป็นจุดที่ไม่สามารถแตกกิ่งออกไปได้อีกจะเป็นชื่อเครื่อง ตัวอย่างเช่น tpt.nectec.or.th หมายถึงเครื่อง tpt ของโดเมน nectec.or.th หรือ cc.usu.edu คือเครื่อง cc ของโดเมน usu.edu
โครงสร้างต้นไม้ทั้งโครงสร้างเรียกโดยทั่วไปว่า โดเมนเนมสเปซ (domain name space) หรือเรียกสั้นๆว่า เนมสเปซ หรือหากต้องการกล่าวเจาะจงถึงอินเทอร์เน็ตก็เรียกว่า อินเทอร์เน็ตเนมสเปซ หากพิจารณารูปที่ 1 อินเทอร์เน็ตเนมสเปซมี 3 กลุ่มใหญ่ ความหมายของแต่ละกลุ่มจะกล่าวโดยละเอียดภายหลัง
รูปที่ 1 โครงสร้างลำดับชั้นของดีเอ็นเอส
ชื่อโดเมน
แต่ละโหนดในเนมสเปซมีชื่อกำกับเพื่อใช้เรียกยกเว้น ราก (root) ซึ่งอยู่บนสุดไม่ต้องมีชื่อกำกับ โหนดหนึ่งๆอาจแตกออกเป็นโหนดย่อยระดับล่างลงไปได้หลายชั้น ชื่อโดเมน (domain name) คือชื่อที่กำกับประจำโหนดและเรียกชื่อโดยไล่ลำดับจากโหนดนั้นตามเส้นทางขึ้นไปยังราก ในโดเมนหนึ่งหนึ่งอาจมี โดเมนย่อย (sub domain) ลงไปได้หลายระดับชั้น เช่น ac.th หรือ or.th เรียกได้ว่าเป็นโดเมนย่อยของโดเมน .th หรือหากพิจารณาในระดับองค์กรเช่นตัวอย่างในรูปที่ 2 แสดงถึงโดเมนย่อยของ ku.ac.th ซึ่งได้แก่ agr.ku.ac.th, eng.ku.ac.th และ sci.ku.ac.th รวมทั้งโดเมนย่อยของ exam.com ได้แก่ engr.exam.com และ sales.exam.com
รูปที่ 2 โดเมนย่อย
จำนวนโดเมนย่อยหรือระดับชั้นในโดเมนหนึ่งๆขึ้นอยู่กับผู้ดูแลระบบจะกำหนด จำนวนระดับชั้นของชื่อโดเมนไม่มีความสัมพันธ์กับไอพีแอดเดรสแต่อย่างใด ชื่อโดเมนทางซ้ายจะบ่งบอกชื่อเครื่องที่เจาะจงมากขึ้น ชื่อโดเมนทางขวาจึงบ่งถึงโดเมนที่ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ ลักษณะนี้ต่างจากไอพีแอดเดรสที่ตัวเลขทางขวาบ่งบอกโฮสต์ที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าทางซ้าย ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นชื่อโดเมนที่มีจำนวนโดเมนย่อยแตกต่างกัน
- www.ee.eng.chula.ac.th เครื่อง www ของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ
- www.tu-muenchen.de เครื่อง www ที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมัน
- ftp.mci.com เครื่อง ftp ของบริษัท MCI
- hp.com เครื่อง hp ของบริษัทฮิวเล็ต-แพคการ์ต
โดเมนสัมบูรณ์และโดเมนสัมพัทธ์
ชื่อโดเมนที่เขียนตามเส้นทางจากโหนดหนึ่งๆไปสิ้นสุดที่ราก เรียกว่า ชื่อโดเมนสัมบูรณ์ (Absolute domain name) ชื่อโดเมนที่เขียนเพียงบางส่วนเรียกว่า ชื่อโดเมนสัมพัทธ์ (Relative domain name)
ชื่อโดเมนสัมบูรณ์โดยปกติแล้วจะปิดท้ายด้วยจุดเพื่อแสดงว่าสิ้นสุดที่ราก และเพื่อให้แยกแยะความแตกต่างจากโดเมนสัมพัทธ์ได้ เช่น tpt.nectec.or.th. แต่ในทางปฏิบัติมักละเครื่องหมายจุดไว้เพราะชื่อโดเมนมักแสดงถึงโดเมนสัมบูรณ์อยู่ในตัวเอง บางโปรแกรมประยุกต์เช่นโปรแกรมไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช้จุดปิดท้ายโดเมนแม้ว่าจะใช้ชื่อนั้นในฐานะของโดเมนสัมบูรณ์ก็ตาม
ดีเอ็นเอสมีชื่อโดเมนสัมพัทธ์เพื่อความสะดวกในการอ้างอิง ดีเอ็นเอสถือว่าชื่อโดเมนที่ไม่ลงท้ายด้วยจุดคือโดเมนสัมพัทธ์และจะสร้างชื่อโดเมนสัมบูรณ์ให้ เช่นผู้ใช้อาจพิมพ์เพียง tpt และให้ดีเอ็นเอสเติมชื่อโดเมน nectec.or.th. ต่อท้าย ก่อนดำเนินการเช่นนี้ได้ดีเอ็นเอสจำเป็นต้องทราบถึงชื่อโดเมนประจำเครือข่ายก่อน วิธีการกำหนดชื่อโดเมนประจำเครือข่ายจะขึ้นอยู่กับระบบปฏิบัติการที่ใช้ ตัวอย่างเช่นในระบบปฏิบัติการยูนิกซ์กำหนดชื่อโดเมนประจำเครือข่ายและข้อมูลอื่นไว้ในแฟ้ม /etc/resolv.conf
โดเมนระดับบนสุด (Top-Level Domains) หรือเขียนย่อว่า TLDs หมายถึงชื่อโดเมนที่ระบุถึงกลุ่มโดเมนระดับบน กลุ่มโดเมนเหล่านี้ไม่อยู่ภายใต้สังกัดใด โดเมนระดับบนสุดในปัจจุบันจัดแบ่งออกเป็นสามประเภทใหญ่ (ดูรูปที่ 1) คือ
- โดเมนทั่วไป (generic domain) เป็นชื่อโดเมนที่จัดตามกลุ่มองค์กร
- โดเมนรหัสประเทศ (country code domain) ชื่อโดเมนจากรหัสประเทศ
- โดเมนอาร์พา ชื่อโดเมนสำหรับใช้แปลงไอพีแอดเดรสไปหาชื่อเครื่อง
โดเมนทั่วไป
โดเมนประเภทนี้เป็นชื่อโดเมนระดับบนสุดและมักเรียกว่าโดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไป (Generic Top Level Domains : gTLDs) ชื่อโดเมนประเภทนี้เป็นกลุ่มโดเมนขององค์กร ซึ่งในระยะแรกเริ่มมี 7 หมวดได้แก่ .com, .edu, .gov, .int, .mil, .net และ .org ความหมายและตัวอย่างของแต่ละชื่อโดเมนแสดงได้ดังตารางที่ 1
โดเมนทั้ง 7 หมวดนี้มีขอบเขตการใช้งานแตกต่างกัน โดยโดเมน .gov และ .mil จำกัดการใช้อยู่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเป็นประเทศต้นกำเนิดของอินเทอร์เน็ต l ส่วนชื่อโดเมนอื่นอนุญาตให้ใช้โดยไม่จำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวด .com, .net และ .org มีผู้นิยมจดทะเบียนอย่างแพร่หลายทั่วโลก สำหรับการจดทะเบียนชื่อโดเมน .edu ส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา [1] ส่วนชื่อโดเมน .int จดทะเบียนได้เฉพาะหน่วยงานภายใต้สนธิสัญญาหรือมีพันธกิจนานาชาติเท่านั้น
ตารางที่ 1 โดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไปดั้งเดิมในอินเทอร์เน็ต
โดเมน
|
กลุ่ม
|
ตัวอย่าง
|
.com
|
องค์กรธุรกิจการค้า (Commercial organizations)
|
sun.com, microsoft.com
|
.edu
|
สถาบันการศึกษา [2] (Educational organizations)
|
mit.edu, standford.edu
|
.gov
|
หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐ (Government organizations)
|
nasa.gov, doc.gov
|
.int
|
องค์กรนานาชาติ (International organizations)
|
nato.int, sadc.int
|
.mil
|
หน่วยงานทางทหารของสหรัฐ (Military organizations)
|
army.mil, navy.mil
|
.net
|
หน่วยงานเครือข่าย (Networking organizations)
|
nyser.net, sura.net
|
.org
|
องค์กรจัดตั้ง (Organizations) เช่นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร หรือหน่วยงานที่ไม่เข้ากลุ่มอื่น
|
mitre.org, acm.org
|
โดเมน
|
กลุ่ม
|
ตัวอย่าง
|
.aero
|
การอากาศยาน
|
ชื่อโดเมนเฉพาะองค์กรด้านการขนส่งทางอากาศยาน โดยสมาคมการขนส่งทางอากาศยานนานาชาติ หรือSociete Internationale de Telecommunications Aeronautiques (SITA) เป็นผู้บริหารนโยบาย
|
.biz
|
องค์กรธุรกิจ
|
ชื่อโดเมนสำหรับการธุรกิจ แต่ต่างจาก .com ในแง่ที่ผู้จดทะเบียนต้องประกอบการธุรกิจจดทะเบียนเท่านั้น โดเมนนี้จึงไม่อนุญาตให้จดทะเบียนโดยบุคคลหรือองค์กรที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ
|
.coop
|
สหกรณ์
|
ชื่อโดเมนเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการสหกรณ์ โดยสหพันธ์สหกรณ์นานาชาติ หรือ International Cooperative Alliance (ICA) เป็นผู้บริหารนโยบาย
|
.info
|
ข้อมูลข่าวสาร
|
ชื่อโดเมนสำหรับจดทะเบียนทั่วไป ถึงแม้ว่าชื่อโดเมนจะสื่อถึง “บริการข้อมูลข่าวสาร” แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะเปิดให้จดทะเบียนโดยไม่มีข้อจำกัด ทั้งนี้เพื่อเป็นการแข่งขันกับโดเมนในกลุ่ม .com, .net และ.org
|
.museum
|
พิพิธภัณฑ์
|
ชื่อโดเมนสำหรับพิพิธภัณฑ์ การจดทะเบียนจะอนุญาตเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของสภาพิพิธภัณฑ์นานาชาติ หรือ International Council of Museums (ICOM)
|
.name
|
บุคคล
|
ชื่อโดเมนสำหรับบุคคลทั่วไป การจดทะเบียนจะต้องจดชื่อระดับที่สามในรูปแบบ firstname.lastnameตัวอย่างเช่น john.smith.name การจดทะเบียนจะไม่มีการครอบครองชื่อโดเมนระดับที่สอง และให้บริการจดทะเบียนตามลำดับการร้องขอ
|
.pro
|
ผู้ประกอบ
วิชาชีพ |
ชื่อโดเมนผู้ประกอบวิชาชีพ (professionals) เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าผู้จดทะเบียนอยู่ในสายวิชาชีพนั้นอย่างแท้จริง นโยบายการบริหารชื่อโดเมนจะดำเนินการโดยสมาคมหรือสหพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ
|
โดเมน
|
ชื่อประเทศ
|
โดเมน
|
ชื่อประเทศ
|
.at
|
ออสเตรีย
|
.es
|
สเปน
|
.au
|
ออสเตรเลีย
|
.fr
|
ฝรั่งเศส
|
.ca
|
แคนาดา
|
.jp
|
ญี่ปุ่น
|
.ch
|
สวิตเซอร์แลนด์
|
.kr
|
เกาหลี
|
.de
|
เยอรมัน
|
.uk
|
สหราชอาณาจักร
|
ชื่อ
|
ไอพีแอดเดรส
|
a.root-servers.net
|
198.41.0.4
|
b.root-servers.net
|
128.9.0.107
|
c.root-servers.net
|
192.230.4.12
|
d.root-servers.net
|
128.8.10.90
|
e.root-servers.net
|
192.203.230.10
|
f.root-servers.net.
|
192.5.5.241
|
g.root-servers.net
|
192.112.36.4
|
h.root-servers.net
|
128.63.2.53
|
i.root-servers.net
|
192.36.148.17
|
j.root-servers.net
|
192.58.128.30
|
k.root-servers.net
|
193.0.14.129
|
l.root-servers.net
|
198.32.64.12
|
m.root-servers.net
|
202.12.27.33
|
จากความต้องการใช้ชื่อโดเมนที่มีเพิ่มมากขึ้น เมื่อเดือนกันยายน 2543 ไอแคนซึ่งเป็นองค์กรบริหารระบบชื่อโดเมนในอินเทอร์เน็ตได้ประกาศใช้ชื่อโดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไปใหม่อีก 7 หมวด ได้แก่ .aero, .biz, .coop, .info, .museum, .name และ .pro รายละเอียดการใช้แต่ละชื่อโดเมนแสดงไว้ในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ชื่อโดเมนระดับบนสุดใหม่ที่ไอแคนประกาศเพิ่ม
โดเมนรหัสประเทศ
ชื่อโดเมนในกลุ่มนี้จะใช้รหัสประเทศที่ประกอบด้วยอักขระสองตัวตามมาตรฐาน ISO 3166-1 เช่น .jp, .br, .au หรือ .ca เป็นต้น ชื่อโดเมนประเภทนี้จึงเรียกว่า ชื่อโดเมนระดับบนสุดตามรหัสประเทศ (Country Code Top Level Domains) หรือเขียนโดยย่อว่า ccTLDs ในปัจจุบันมี ccTLDs รวมทั้งสิ้น 244 ชื่อ ในจำนวนนี้มีเพียงสหราชอาณาจักรที่มิได้ใช้ชื่อย่อตามมาตรฐาน ISO 3166-1 กล่าวคือในมาตรฐาน ISO 3166-1 ใช้ gb แต่ชื่อโดเมนที่ใช้คือ .uk [3] ตารางที่ 3 แสดงตัวอย่างชื่อโดเมนระดับบนสุดประจำประเทศ
ตารางที่ 3 ตัวอย่างชื่อโดเมนประจำประเทศ
ชื่อโดเมนหนึ่งๆไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์กับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของคอมพิวเตอร์ ชื่อโดเมนระดับบนสุดเช่น .th ถึงแม้จะบ่งบอกถึงประเทศไทย แต่เครื่องที่ใช้ชื่อโดเมน .th อาจตั้งอยู่ในประเทศใดๆก็ได้ นอกจากนี้เครื่องหนึ่งๆยังสามารถจดทะเบียนได้มากกว่าหนึ่งชื่อ ชื่อโดเมนจึงบอกเพียงว่าเครื่องนั้นจดทะเบียนในสังกัดของชื่อโดเมนที่ระบุเท่านั้น
โดเมนอาร์พา
โปรแกรมประยุกต์บางโปรแกรมต้องการตรวจสอบว่าไอพีที่ใช้งานมีชื่อใดหรือผู้ใช้อาจต้องการทราบชื่อโฮสต์จากไอพีแอดเดรสที่มีอยู่ การแปลงไอพีแอดเดรสกลับไปเป็นชื่อจึงเป็นอีกบริการหนึ่งที่ดีเอ็นเอสต้องจัดเตรียมไว้
ในเนมสเปซที่ได้ศึกษามาตั้งแต่ต้น เราทราบว่าแต่ละโหนดมีชื่อกำกับเพื่อใช้ค้นหาไอพีแอดเดรสหรือใช้ชื่อเป็นดรรชนีค้นหาไอพีแอดเดรส แต่หากต้องสืบค้นชื่อในเนมสเปซโดยไม่มีดรรชนีย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะจะต้องเริ่มค้นจากรากเข้าไปในทุกจุดจนกว่าจะพบชื่อที่ตรงกับไอพีแอดเดรสที่ต้องการ วิธีช่วยค้นจึงต้องจำเป็นต้องจัดให้มีดรรชนีไอพีแอดเดรสในทำนองเดียวกับดรรชนีโดเมน วิธีการนี้ทำได้โดยการปรับแปลงไอพีแอดเดรสที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นเสมือนชื่อโดเมนตามลำดับชั้นและวางตำแหน่งของไอพีแอดเดรสนี้ให้อยู่ภายใต้โดเมนที่จัดขึ้นมาโดยเฉพาะซึ่งได้แก่โดเมน .in-addr.arpa
เนื่องจากไอพีแอดเดรสแบ่งออกเป็น 4 หลัก แต่ละหลักมีได้ 256 ค่า จาก 0 ถึง 255 โดเมนที่อยู่ภายใต้โดเมน .in-addr.arpa จึงจัดให้มีได้ 256 โดเมนย่อยจาก 0 ถึง 255 โดเมนย่อยระดับแรกจะสมนัยกับอ็อกเท็ต [4] แรกของไอพีแอดเดรส แต่ละโดเมนที่เป็นตัวเลขต่างก็มีโดเมนย่อยลงไปอีก 256 โดเมนย่อยและสมนัยกับอ็อกเท็ตที่สองของไอพีแอดเดรส จนกระทั่งถึงโดเมนย่อยสุดท้ายที่สมนัยกับอ็อกเท็ตที่สี่ของไอพีแอดเดรสและมีตัวชี้ไปยังชื่อโดเมนที่ต้องการ
ชื่อโดเมนจากซ้ายไปขวาแสดงความเจาะจงมากไปสู่ความเจาะจงน้อย ซึ่งกลับทิศทางกับไอพีแอดเดรสที่เขียนแสดงความเจาะจงจากน้อยไปมาก การเขียนโดเมนของไอพีแอดเดรสจึงสลับลำดับกันเพื่อให้เข้ากับหลักการของชื่อโดเมน เช่น 158.108.2.71 เป็นไอพีแอดเดรสของเครื่อง nontri.ku.ac.th จะมีชื่อโดเมนประจำคือ 71.2.108.158.in-addr.arpa การสืบค้นชื่อจากแอดเดรส 158.108.2.71 จะต้องเริ่มจาก .arpa, .in-addr และ .158, .108, .2 และ .71 ตามลำดับ แอดเดรสลักษณะนี้จึงเรียกว่า แอดเดรสผกผัน [5](Reverse address) ซึ่งสื่อถึงแอดเดรสที่เขียนกลับทิศกับไอพีแอดเดรสตามแบบปกติ (Forward address) โครงสร้างชื่อโดเมน .in-addr.arpa มีลักษณะดังรูปที่ 3
โครงสร้างต้นไม้กลับหัวที่แสดงถึงระบบชื่อโดเมนเช่นในรูปที่ 3 เป็นเพียงรูปเชิงนามธรรมที่อธิบายถึงภาพโดยรวมของดีเอ็นเอสในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ตามที่กล่าวไว้แล้วว่าไม่มีหน่วยงานใดที่มีฐานข้อมูลคลุมทั้งโครงสร้าง หากแต่ใช้การ มอบอำนาจการดูแลโดเมน (domain delegation)
ความหมายของการมอบอำนาจการดูแลโดเมนคือ ผู้ดูแลโดเมนระดับบนไม่จัดการโดเมนระดับล่างโดยตรง หากแต่ให้ผู้ดูแลโดเมนระดับล่างมีสิทธิ์ขาดในการดำเนินการทุกอย่างในโดเมนระดับล่างนั้น ผู้ดูแลโดเมนย่อยอาจเพิ่มชื่อเครื่องในฐานข้อมูลหรือสร้างโดเมนย่อยได้ตามต้องการ ในโดเมนย่อยหนึ่งๆหากมีโดเมนย่อยลงไปอีกก็อาจจะใช้วิธีมอบอำนาจเพื่อลดภาระการดูแลได้ในทำนองเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้อาจเปรียบเทียบกับระบบงานในบริษัทที่ผู้จัดการฝ่ายอาจมอบหมายงานให้หัวหน้าแผนกรับผิดชอบงานเป็นส่วนๆ
ในโดเมนหนึ่งๆจะมีการมอบอำนาจการดูแลหรือไม่นั้นเป็นนโยบายของผู้บริหารโดเมนโดยตรง บางโดเมนอาจมีการสร้างโดเมนย่อยแต่ไม่มีการมอบอำนาจใดๆเลย หรืออาจมีการมอบอำนาจเฉพาะบางโดเมนย่อยเท่านั้น วิธีสร้างและมอบอำนาจดูแลโดเมนย่อยในดีเอ็นเอสมีกรรมวิธีเทคนิคเฉพาะซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของรายงานฉบับนี้ ในที่นี้จะอธิบายเพียงหลักการมอบอำนาจซึ่งเกี่ยวพันกับความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องโดเมนและโซนที่จะกล่าวในหัวข้อถัดไป
โดเมนและโซน
ความหมายของ โซน (zone) คือโดเมนย่อยในดีเอ็นเอสที่มีการมอบอำนาจหน้าที่ให้มีผู้ดูแลเฉพาะ ภายในโซนอาจแบ่งให้มีโซนย่อยออกไปอีกได้ตามคณะหรือหน่วยงาน แต่ละโซนจะมีเนมเซิร์ฟเวอร์ทำหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลประจำโซน
เมื่อผู้ดูแลระบบได้รับมอบอำนาจจัดการโซน ผู้ดูแลระบบจะติดตั้งเนมเซิร์ฟเวอร์ประจำโซนและสร้างฐานข้อมูลเพื่อเก็บชื่อเครื่องกับไอพีแอดเดรสในโซนด้วยตนเอง การจัดการโดยผู้ดูแลระบบคือความหมายของการได้รับมอบอำนาจ เนมเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บข้อมูลในโซนใดๆจะมี อำนาจหน้าที่ (authority) ในโซนนั้น ตัวอย่างของการได้รับมอบอำนาจดูแลโดเมนระดับบนสุดมีดังเช่น .com, .net และ .org ดูแลโดยบริษัทเวริไซน์ .mil ดูแลโดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ และโดเมนระดับประเทศจะดูแลโดยผู้ได้รับมอบอำนาจให้เป็นนายทะเบียนชื่อโดเมนของประเทศนั้นๆ เป็นต้น
เนมเซิร์ฟเวอร์
ผู้ดูแลโซนจะติดตั้งมาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์ (master name server) และ สเลฟเนมเซิร์ฟเวอร์(slave name server) ประจำโซน [6] มาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์และสเลฟเนมเซิร์ฟเวอร์ต้องเป็นเครื่องต่างเครื่องกัน มาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์เป็นเนมเซิร์ฟเวอร์ที่อ่านข้อมูลประจำโซนจากแฟ้มข้อมูลที่เก็บในระบบข้อมูล (เช่นฮาร์ดดิสค์) โซนๆหนึ่งจะมีมาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์เพียงเครื่องเดียว ส่วนสเลฟเนมเซิร์ฟเวอร์จะสำเนาข้อมูลมาจากมาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์มาเก็บไว้โดยถ่ายโอนผ่านเครือข่าย สเลฟเนมเซิร์ฟเวอร์มีได้หลายเครื่องเพื่อทำหน้าที่เป็นเนมเซิร์ฟเวอร์สำรองเมื่อมาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถให้บริการได้ การจดทะเบียนชื่อโดเมนจึงต้องระบุชื่อเนมเซิร์ฟเวอร์อย่างน้อยสองชื่อ โดยที่ชื่อแรกคือชื่อมาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์ และอีกชื่อหนึ่งคือสเลฟเนมเซิร์ฟเวอร์
มาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์จะบรรจุข้อมูลประจำโซน ผู้ดูแลดีเอ็นเอสจะเพิ่มหรือลบชื่อโฮสต์หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่มาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่กำหนดสเลฟเนมเซิร์ฟเวอร์จะถ่ายโอนข้อมูลจากมาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์มาโดยอัตโนมัติเพื่อให้ข้อมูลตรงกัน การถ่ายโอนนี้เรียกว่า การถ่ายโอนโซน (zone transfer)
กระบวนการทำงานของดีเอ็นเอสประกอบด้วย รีโซลเวอร์ (resolver) ซึ่งเป็นโปรแกรมในเครื่องไคลเอ็นต์ที่ขอบริการดีเอ็นเอสที่กำหนดว่าเครื่องนั้นอยู่ในโดเมนใด และต้องติดต่อกับเนมเซิร์ฟเวอร์ใด
กระบวนการเรโซลูชัน
เนมเซิร์ฟเวอร์ไม่ได้เพียงให้บริการข้อมูลในโซนที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่เท่านั้น หากแต่ต้องให้บริการสืบค้นข้อมูลอื่นทั่วทั้งเนมสเปซให้กับเนมเซิร์ฟเวอร์อื่นที่ขอบริการ ตัวอย่างเช่น เนมเซิร์ฟเวอร์ในสังกัด ku.ac.th อาจขอบริการถามหาชื่อโฮสต์ในสังกัด nectec.or.th โดยอาศัยเนมเซิร์ฟเวอร์ของ nectec.or.th กระบวนการสืบค้นชื่อโดยเนมเซิร์ฟเวอร์นี้เรียกว่า เนมเรโซลูชัน (name resolution) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เรโซลูชัน(resolution)
เรโซลูชันของดีเอ็นเอสมีหลักการทำงานแบบไคลเอ็นต์เซิร์ฟเวอร์ รีโซลเวอร์ทำหน้าที่เป็นไคลเอ็นต์และเนมเซิร์ฟเวอร์ทำหน้าที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ ดังรูปที่ 4 ทั้งรีโซลเวอร์และเนมเซิร์ฟเวอร์จะเก็บรักษาข้อมูลที่สืบค้นได้ไว้ในแคช เนมเซิร์ฟเวอร์จะสืบค้นข้อมูลในแคชก่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หากพบก็จะใช้ข้อมูลในแคชตอบกลับไป ปกติแล้วเนมเซิร์ฟเวอร์จะเก็บข้อมูลในแคชเพียงระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงลบทิ้งไปเพราะข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
รูทเนมเซิร์ฟเวอร์
เนมเซิร์ฟเวอร์แต่ละเครื่องต่างมีข้อมูลเฉพาะโซนที่ดูแลอยู่เท่านั้น หากรีโซลเวอร์ร้องขอการสอบถามข้อมูลโซนตนเอง เนมเซิร์ฟเวอร์จะช่วยค้นข้อมูลนอกโซนของตนเองให้
อินเทอร์เน็ตจัดให้มี รูทเนมเซิร์ฟเวอร์ (root name server) เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นการหาข้อมูลในเนมสเปซ เนมเซิร์ฟเวอร์สามารถสืบค้นข้อมูลทุกจุดของเนมสเปซโดยติดต่อกับรูทเนมเซิร์ฟเวอร์ รูทเนมเซิร์ฟเวอร์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากรูทเนมเซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถให้บริการได้แล้วกระบวนการเรโซลูชันทั้งอินเทอร์เน็ตจะหยุดชะงัก อินเทอร์เน็ตจึงจัดให้มีรูทเนมเซิร์ฟเวอร์กระจายตัวในต่างพื้นที่กันจำนวน 13 รูทเนมเซิร์ฟเวอร์ได้แก่ a.root-servers.net, b.root-servers.net, c.root-servers.net, … , m.root-servers.net ดังตารางที่ 4 ทั้งนี้ a.root-servers.net ทำหน้าที่เป็นรูทเนมเซิร์ฟเวอร์หลักและที่เหลืออีก 12 ตัวเป็นรูทเนมเซิร์ฟเวอร์รองที่จะทำสำเนาข้อมูลจาก a.root-servers.net เป็นระยะๆ
ตารางที่ 4 รูทเนมเซิร์ฟเวอร์
ที่มา : ftp://ftp.rs.internic.net/domain/named.root
รูปที่ 5 แสดงที่ตั้งของรูทเนมเซิร์ฟเวอร์ทั้ง 13 เครื่อง โดยที่ 10 เครื่องกระจายตัวในอยู่ในสหรัฐอเมริกา อีก 3 เครื่องอยู่ในลอนดอน สต็อกโฮล์ม และโตเกียว รูทเนมเซิร์ฟเวอร์ทั้ง 13 เครื่องมิได้รับภาระการถามหาชื่อโดยตรงให้กับไคลเอ็นต์ทุกครั้ง หากแต่เป็นจุดทางเข้าระดับบนสุดโดยมีเนมเซิร์ฟเวอร์ระดับที่สองของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและองค์กรต่างๆและเนมเซิร์ฟเวอร์สำรองอีกจำนวนมาก ขณะที่เนมเซิร์ฟเวอร์ระดับถัดไปคือเนมเซิร์ฟเวอร์ ccTLDs นั้นเมื่อไคลเอ็นต์ถามหาไอพีแอดเดรสจากชื่อโดเมน ไคลเอ็นต์จะติดต่อกับเนมเซิร์ฟเวอร์ประจำโดเมนนั้นเพื่อสืบค้นข้อมูล หากเนมเซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถหาชื่อได้ก็จะติดต่อกับรูทเนมเซิร์ฟเวอร์ และรูทเนมเซิร์ฟเวอร์จะส่งรายชื่อของเนมเซิร์ฟเวอร์ที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไป
ในระยะแรกนั้นรูทเนมเซิร์ฟเวอร์จะเก็บฐานข้อมูลของโดเมน gTLDs บางโดเมนได้แก่ .com, .net., และ .org แต่เพื่อให้ระบบชื่อโดเมนมีเสถียรภาพและสามารถขยายภาระงานได้ จึงมีการจัดตั้งเนมเซิร์ฟเวอร์อีกหนึ่งชุดภายใต้ชื่อโดเมน gtld-servers.net และย้ายข้อมูลในหมวด .com, .net., และ .org ออกจากรูทเนมเซิร์ฟเวอร์มาไว้ในเนมเซิร์ฟเวอร์ชุดใหม่ และใช้ชื่อเทียบเคียงกับรูทเนมเซิร์ฟเวอร์คือ a.gtld-servers.net ถึง m.gtld-servers.net รูทเนมเซิร์ฟเวอร์ในปัจจุบันจึงดูแลเพียงฐานข้อมูลกลุ่ม ccTLDs และบางหมวดของ gTLDs ได้แก่ .edu และบางส่วนของ in-addr.arpa
ที่มา : http://caffeine.ieee.org/spectrum/dec01/departments/websf1.html
รูปที่ 5 รูทเนมเซิร์ฟเวอร์และตำแหน่งที่ตั้ง
ตัวอย่างการทำงานของรีโซลเวอร์
เพื่อให้เห็นขั้นตอนการทำงานของดีเอ็นเอสที่สัมพันธ์กับรูทเนมเซิร์ฟเวอร์ ขอให้พิจารณารูปที่ 6 ซึ่งแสดงกระบวนการเรโซลูชันทีละขั้นตอน ในที่นี้สมมติให้ไคลเอ็นต์ pc.name.co.th ต้องการหาไอพีแอดเดรสของ www.name.com โดยที่ ns.name.co.th คือเนมเซิร์ฟเวอร์ของ name.co.th ขั้นตอนที่เกิดขึ้นจะเป็นดังต่อไปนี้
- ไคลเอ็นต์ pc.name.co.th สอบถามหาไอพีแอดเดรสของ www.name.com โดยส่งคำถามให้ ns.name.co.th ตามขั้นตอนที่
- ในตัวอย่างนี้ ns.name.co.th ไม่มีไอพีแอดเดรสของ www.name.com อยู่ในแคช จึงต้องติดต่อกับรูทเนมเซิร์ฟเวอร์ตามขั้นที่ เพื่อถามหาแอดเดรสของ www.name.com
- เมื่อรูทเนมเซิร์ฟเวอร์ได้รับคำถาม แต่ไม่สามารถตอบได้โดยตรงเนื่องจากรูทเนมเซิร์ฟเวอร์ไม่ได้เก็บไอพีแอดเดรสของ www.name.com หน้าที่ของรูทเนมเซิร์ฟเวอร์คือส่งรายชื่อเนมเซอร์เวอร์ที่ดูแลฐานข้อมูลโดเมน .com กลับมาให้ ns.name.co.th ตามขั้นที่ การตอบกลับในลักษณะนี้เรียกว่าเป็นการตอบแบบอ้างอิง (Referal answer) คำตอบที่ส่งไปมักเป็นเนมเซิร์ฟเวอร์ระดับรอง ซึ่งในที่นี้คือเนมเซิร์ฟเวอร์ในชุด gtld-servers.net
- รายชื่อเนมเซิร์ฟเวอร์ที่ได้รับอาจมีหลายชื่อ ซึ่ง ns.name.co.th จะต้องหาคำตอบต่อไป โดยเลือกชื่อเนมเซิร์ฟเวอร์ที่ได้รับเพียงหนึ่งชื่อเพื่อถามแอดเดรสของ www.name.com ใหม่อีกครั้ง ในที่นี้ให้ ns.name.co.th เลือกและส่งคำถามไปยัง f.gtld-servers.net ตามขั้นที่
- f.gtld-servers.net ตอบกลับโดยรายชื่อเนมเซิร์ฟเวอร์ของโดเมน name.com ซึ่งในที่นี้คือ twinkle.generation.net และ sparkle.generation.net กลับไปตามขั้นที่ …
- ns.name.co.th เลือกติดต่อกับ twinkle.generation.net เพื่อสอบถามไอพีของ www.name.com ดังขั้นที่
- เนื่องจาก twinkle.generation.net เก็บฐานข้อมูลของโดเมน name.com ดังนั้นจึงสามารถตอบไอพีแอดเดรสของ www.name.com กลับมาตามขั้นที่ ซึ่งค่าที่ได้คือ 205.205.119.75
- ขั้นที่ เมื่อ ns.name.co.th ได้รับไอพีแอดเดรสของ www.name.com ก็จะส่งไอพีแอดเดรสที่ได้นี้ไปให้ pc.name.co.thจากกระบวนการเรโซลูชันข้างต้นจะสังเกตเห็นว่าเนมเซิร์ฟเวอร์ในโซนหนึ่งๆทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาข้อมูลในโซนอื่นๆตามที่ไคลเอ็นต์ในโซนนั้นร้องขอ lการสอบถามข้อมูลของ แต่ละครั้งอาจไม่ได้รับคำตอบโดยตรง หากแต่ได้ชื่อเนมเซิร์ฟเวอร์ซึ่ง “อยู่ใกล้” คำตอบมากยิ่งขึ้น ทีละขั้นจนกระทั่งได้ชื่อเนมเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บข้อมูลที่ต้องการและให้คำตอบในที่สุด[1] มีสถาบันการศึกษานอกสหรัฐอเมริกาได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนด้วย ตัวอย่างเช่นในประเทศไทยมีการจดทะเบียนชื่อโดเมน chula.edu และ chiangmai.edu เป็นต้น[2] สถาบันการศึกษาที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนชื่อโดโมน .edu จะต้องเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงระดับมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตร 4 ปีหรือวิทยาลัยที่มีหลักสูตร 2 ปี ส่วนโรงเรียนประถมหรือมัธยมในสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนภายใต้ .edu โรงเรียนเหล่านี้จึงต้องจดทะเบียนชื่อโดเมนภายใต้โดเมนประจำประเทศของสหรัฐอเมริกาคือ .us นโยบายการจดทะเบียนชื่อโดเมน .edu สามารถดูได้จากเว็บเพจของ EDUCAUSE (http://www.educause.edu/edudomain/faq.asp)[3] ไออานาได้กำหนดให้ใช้ .uk สำหรับสหราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 2528 ตามรูปแบบที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในเครือข่าย JANET ซึ่งเป็นเครือข่ายยุคแรกเริ่มของสหราชอาณาจักร (ดู http://www.icann.org/general/ps-report-22mar00.htm) ต่อมาจึงได้กำหนดหลักการให้ใช้ชื่อโดเมนระดับบนสุดสำหรับตามรหัส ISO 3166-1[4] อ็อกเท็ต (octet) เป็นศัพท์ที่นิยมใช้ในระบบเครือข่าย มีความหมายถึงตัวเลขจำนวน 8 บิต หรือใช้ในความหมายเดียวกับคำว่าไบต์[5] แอดเดรสผกผันของไอพีรุ่นหกจะอยู่ภายใต้โดเมน ip6.int และใช้หลักการเฉพาะทางเทคนิคสำหรับการแปลงแอดเดรสผกผันซึ่งอยู่นอกเหนือบทความฉบับนี้[6] "มาสเตอร์เนมเซิร์ฟเวอร์" และ “สเลฟเนมเซิร์ฟเวอร์” เป็นชื่อที่เรียกตามศัพท์เทคนิคที่กำหนดใน "BIND" ซึ่งเป็นโปรแกรมเนมเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้อย่างแพร่หลาย แต่เดิมจะใช้ชื่อว่า “Primary name server” และ “Secondary name server” ตามลำดับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น